ตลาดย่านเก่าวังกรด
ย่านเก่าวังกรด ตลาดเก่าแก่โบราณอายุ 100 กว่าปี เป็นแหล่งรวมอาหารอร่อย ชมบรรยากาศตลาดเก่าอาคารไม้ ห้องแถว ใจกลางมีหอนาฬิกาเป็นจุดนัดพบ (landmark) 
ชุมชนย่านเก่าวังกรด จ.พิจิตร หรือที่คนจังหวัดพิจิตรคุ้นเคยกันดีในชื่ออดีตว่า “ตลาดวังกรด” ตั้งอยู่ในเขต ต.บ้านบุ่ง อ.เมือง จ.พิจิตร อยู่ห่างจากตัวเมืองพิจิตร 6 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเรียกขานมาเป็นชื่อ “ย่านเก่าวังกรด” ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสถานีรถไฟ จะมองเห็นหอนาฬิกา

ย่านเก่าวังกรด เมื่อสมัยก่อนเป็นย่านพาณิชยกรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ในปัจจุบันสถานที่และบรรยากาศยังคงสามารถบอกเล่าถึงความเป็นอดีตได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม และการค้าขาย จึงถือได้ว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศและกลิ่นอายของตลาดโบราณเหมือนครั้งวันวาน ชุมชนบ้านท่าอีเต่า  ความเป็นมาของบริเวณชุมชนวังกรดแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น “ชุมชนวังกลม” ที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากเป็นชื่อของห้วยน้ำที่มีลักษณะการหมุนเป็นวงกลมอยู่ใกล้บริเวณของวัดวงกลม ดังนั้นเมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลมขึ้นในปีพ.ศ. 2540 แต่เนื่องจากชื่อสถานีวังกลมนี้ มีการตั้งชื่อสถานีเหมือนกับสถานีของรถไฟในภาคอีสาน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อสถานีเป็นสถานีรถไฟวังกรด และได้เปลี่ยนชื่อชุมชนตามชื่อสถานีรถไฟเป็นชุมชนวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

บ้านหลวงประเทืองคดี 

ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของชุมชนตลาดวังกรด สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2471 เดิมชาวบ้านเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านคุณนายแจง” ตามชื่อเจ้าของบ้านเดิมที่เป็นผู้ครอบครอง คือ นางแจงและนายทอง ไทยตรง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่เมืองไทย มีบุตรชายหญิง 5 คน ต่อมานายทอง ไทยตรง ซึ่งเป็นคนสนิทท่านโฮจิมินห์ถูกลอบสังหาร นางแจงจึงให้หลวงประเทืองคดีว่าความทำให้มีความสนิทกันและตกลงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันและใช้บ้านหลังนี้เป็นสำนักงานให้บริการด้านกฎหมายแก่ประชาชน ใช้ชื่อบ้านว่า “บ้านหลวงประเทืองคดี” สำหรับหลวงประเทืองคดี อดีตเคยรับราชการเป็นอัยการ ต่อมาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญของชาวตลาดวังกรด โดยเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดวังกรดและเป็นผู้นำการสร้างศาลเจ้าพ่อวังกลม รวมทั้งเป็นที่พึ่งของชาวบ้านวังกรดในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เมื่อนางแจงเสียชีวิต และบุตรชายหญิง 4 คน ได้เสียชีวิตเหลือเพียง พันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง บุตรคนสุดท้ายของนางแจงจึงได้เป็นผู้ครอบครองบ้านหลวงประเทืองคดี ต่อมาพันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง ได้มอบบ้านหลังนี้ให้กับเทศบาลตำบลวังกรดในพุทธศักราช 2559 หลังจากนั้นจังหวัดพิจิตรได้สนับสนุนประมาณในการปรับปรุงฟื้นฟูจนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2560 และเปิดใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนตลาดวังกรด
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔  บ้านหลวงประเทืองคดี
จังหวัดพิจิตร อาคารแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น นับได้ว่ามีการอนุรักษ์ที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ครอบครองและท้องถิ่น ในกระบวนการอนุรักษ์มีการศึกษาข้อมูล การประเมินความเสื่อมสภาพ และการเลือกวิธีการอนุรักษ์ จนสามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการเลือกใช้สีและองค์ประกอบในพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร ที่จะไม่รบกวนความเป็นของแท้ดั้งเดิมของอาคาร 
ที่ตั้งเลขที่ 197/4 หมู่ 1 ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร สถาปนิก/ผู้ออกแบบไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ /สร้างโดยช่างชาวเวียดนามชื่อ นายบัว
ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง กรมศิลปากร /สถาปนิกผู้บูรณะ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า ๒๕๔๔/ ผู้ครอบครอง เทศบาลตำบลวังกรด/ ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2471
บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหลังแรกของชุมชนตลาดวังกรด สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม ชื่อนายบัว โดยใช้อิฐที่ปั้นและเผาเอง ปูนหมักแบบโบราณ เป็นอาคารสูง 2 ชั้น และมีห้องใต้ดิน รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก กว้าง 13.60 เมตร ยาว 10.70 เมตร พื้นที่รวมประมาณ 145.52 ตารางเมตร ผนังอาคารหลักเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห้องใต้ดินขนาดความกว้างประมาณ 3.80 เมตร ยาว 5.00 เมตร ลึก 1.30 เมตร ซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังใช้เก็บทรัพย์สินและหลบซ่อนตัว พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วย ห้องทำงานของหลวงประเทืองคดี โถงกลาง ห้องดื่มน้ำชา ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง และระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง
ส่วนชั้นบนประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ขนาด ห้องนอน โถงกลาง ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับลงชั้นล่าง ระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับลงชั้นล่าง และบันไดขึ้นดาดฟ้า โดยห้องแต่ละห้องทั้งชั้นล่างและชั้นบนเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน บริเวณหลังบ้านมีบ่อน้ำบาดาลแบบโบราณอายุประมาณ 90 ปี

เจ้าพ่อวังกลม

สำหรับประวัติของเจ้าพ่อวังกลมมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง
เรื่องแรก มีชาวจีนไหหลำ 3 คน เป็นคนนำเจ้าพ่อและหน้าบันเจ้าพ่อที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมาจากเมืองจีนมาไว้ที่บ้านวังกลมเหนือ สมัยก่อนนั้นจะมีการเข้าทรงและนำเหล็กแหลมยาวประมาณ 5 เมตร มาแทงที่ปากคนทรงและให้คนขึ้นไปโหนตรงปลายเหล็กแหลม (ปัจจุบันนี้เหล็กแหลมยังอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อวังกลม)
เรื่องที่สอง คือมีคนพบขอนไม้ลอยมาติดที่ท่าน้ำวังกลมเหนือ ชาวบ้านผลักไสเท่าไรก็ไม่ไปกลับลอยเข้ามาอีกเป็นอย่างนี้หลายครั้ง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันกู้ขึ้นมาและให้ช่างแกะสลักเป็นองค์เจ้าพ่อ และอัญเชิญประดิษฐานและขนานนามว่า “เจ้าพ่อวังกลม” (ปึง เถ่า กง) ความศักสิทธิ์ของเจ้าพ่อวังกลมเป็นที่เลื่องลือในหลายๆ ด้าน เช่น การขอบุตร การขอให้เลื่อนตำแหน่ง การค้าขาย เป็นต้น เมื่อสำเร็จผลก็มีผู้มาแก้บนโดยการมีงิ้วให้เจ้าพ่อ ทุกปีมีผู้มาแก้บนมากกว่า 10 รายจนต้องเข้าคิวแก้บนข้ามปีกันเลยทีเดียว

สถานีรถไฟวังกรด

ตลอดระยะเวลา 114 ปีที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พัฒนากิจการเดินรถอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างทางรถไฟรวมความยาวทั้งสิ้น 4,034 กิโลเมตร สถานีรถไฟจำนวน 442 สถานี กระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ อาคารสถานีรถไฟแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านรูปแบบ วัสดุ วิธีการก่อสร้างที่มีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัว ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาคารสถานีรถไฟเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างทางรถไฟ และการพัฒนากิจการการรถไฟแห่งประเทศไทยตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อพุทธศักราช 2473 อาคารสถานีรถไฟที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีทั้งอาคารที่สร้างด้วยไม้และอาคารก่ออิฐฉาบปูน โดยขนาดของอาคารมีความแตกต่างกันตามลําดับความสำคัญและประโยชน์ใช้สอย รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะแบบ ผสมผสานรูปแบบจากยุโรปเนื่องจากผู้ออกแบบเป็นชาวต่างประเทศ เช่น นาย มาริโอ ตามานโย กับนายอัลลิบาลเล ริกาซซิสถาปนิกชาวอิตาลีและนายเอิร์นสท์ อาลท ์ มานน์ หนึ่งในวิศวกรชาวเยอรมันผู้ขุดอุโมงค์ขุนตาน เป็นต้น อาคารสถานีรถไฟที่มีความสำคัญมากได้รับการออกแบบให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว อาคารสถานีรถไฟที่มีความสำคัญรองลงมาจะเป็นอาคารสถานีรถไฟไม้ แบบมาตรฐานชั้นเดียวขนาดใหญ่ กลาง และเล็กตามลําดับ ผังพื้นของอาคารสถานีรถไฟไม้แบบมาตรฐานชั้นเดียวขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับชาน ชาลาและทางรถไฟ ประกอบด้วยที่พักผู้โดยสาร ห้องขายตั๋ว และห้องทำงานนายสถานี การพัฒนาเส้นทางรถไฟทําให้ชุมชนบริเวณใกล้ๆ กับสถานีรถไฟเกิดการพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของชุมชน กระตุ้นให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจขยายตัวทั้งชนิดและปริมาณ มีการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เรือนแถว ไม้ตึกแถว และตลาดขึ้นในพื้นที่ เช่น สถานีรถไฟวังกรดที่ก่อให้เกิดตลาดชุมชนย่านเก่าวังกรดเป็นต้น ซึ่งอาคารสถานีรถไฟวังกรดมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตมาอย่างมากมาย และเป็นสถาปัตยกรรมที่เล่าเรื่องราวของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรดตำบลบ้านบุ่งได้อย่างมีคุณค่าจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นมรดกของชุมชนและของชาติและควรมีการรักษาให้อยู่ในสภาพดีต่อไป
วัดวังกลม หลวงพ่อลือ
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2461 หลวงพ่อลือเป็นพระธุดงค์ผ่านมา
 เห็นว่าพระประธานในอุโบสถยังไม่มี จึงรับอาสาที่จะสร้างให้ (มาทราบภายหลังว่าท่านเป็นผู้มีฝีมือในการปั้นองค์พระประธาน ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าอาวาสวัดสามประชุม อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ท่านมักจะสร้างพระประธานให้กับวัดที่ท่านธุดงค์ผ่านไปเห็น เมื่อสร้างเสร็จท่านเดินทางกลับวัดสามประชุม และท่านตั้งชื่อพระประธานองค์นี้ว่า “หลวงพ่อลือ” อันจะเป็นชื่อที่ “ลือกระฉ่อนขจรไกล” ต่อมาหลวงพ่อลือได้มรณภาพในปี 2510 และมีการประชุมเพลิงในปีต่อมา ขณะที่กระทำพิธีเกิดเหตุการณ์ประจักษ์แก่สายตาประชาชนจำนวนนับพันต่างเห็นพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวมีดาวล้อมรอบ ทำให้บริเวณนั้นเงียบสงัดเหมือนกับทุกคนโดนสะกดจิต ทำให้คิดว่าเทพเทวดาได้มาร่วมประชุมเพลิงด้วย จากการสัมภาษณ์อาจารย์วิเชษฐ์ พุทธเกษม อายุ 60 ปี เกิดปี พ.ศ. 2501 ท่านเป็นข้าราชการครูอยู่ที่โรงเรียนวังกรดพิทยาและเป็นประธานชมรมพระเครื่องย่านเก่าวังกรด อาจารย์วิเชษฐ์เล่าว่า สำหรับการสร้างพระเครื่องรุ่นแรก ของวัดวังกลมมีสาเหตุมาจากในระหว่างที่พระครูธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเปลี่ยน) เจ้าอาวาสองค์ที่ 12 ของวัดวังกลม ในครั้งแรกท่านตั้งใจจะนำพระเครื่องชุดนี้บรรจุหน้าบรรณของศาลาการเปรียญหลังนี้แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2511 การสร้างศาลาการเปรียญวัดวังกลมยังไม่ลุล่วง ท่านจึงได้มอบวัตถุมงคลจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างจากผงและว่านที่รวบรวมมากว่า 5 ปี สร้างเป็นพระเครื่องรุ่นแรกในปี 2511 ซึ่งสร้างขึ้นตามตำรับหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อเดิมทุกประการจากนั้นหลวงพ่อเปลี่ยนจึงมอบพระเครื่องชุดนี้ให้กรรมการวัดจัดจำหน่ายจนศาลาการเปรียญสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งพระเครื่องชุดนี้ก่อเกิดปาฏิหาริย์แก่ผู้นำไปบูชามากมาย เช่น ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเปลี่ยนเดินทางไปกรุงเทพฯแล้วถูกรถยนต์ชนตัวท่านกระเด็นไปหลายวา ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์คิดว่าท่าเสียชีวิตแล้วเพราะท่านไม่รู้สึกตัว ตัวท่านเขียวไปหมดแล้วท่านนอนสลบอยู่ที่โรงพยาบาล 7 วัน ท่านไม่มีบาดแผลใดๆ มีเพียงรอยฟกช้ำเท่านั้นผู้เห็นเหตุการณ์ เมื่อทราบเช่นนั้นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ต่างพากันไปเยี่ยมเพราะคิดว่าท่านต้องมีของดี ท่านจึงให้ดูว่าท่านมีพระหลวงพ่อลือรุ่นแรกอยู่ในย่ามอย่างเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นจึงมีการสร้างพระเครื่องรุ่นต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้