ประวัติบุคคลสำคัญ ชุมชนย่านเก่าวังกรด

บุคคลต้นแบบผู้มีคุณูประการต่อคนในชุมชนย่านเก่าวังกรด

หลวงประเทืองคดี
หลวงประเทืองคดี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2425 เดิมชื่อนายชม ผดุงศิริ มีภรรยาชื่อนางเสงี่ยมเป็นลูกครึ่งไทย-จีน ใช้แซ่โค้ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ นางบุญยง กัณฑษา (ผดุงศิริ) นางบุญยิ่ง ผดุงศิริ นางนงเยาว์ ผดุงศิริ นายบุญเยี่ยม ผดุงศิริ หลวงประเทืองคดีมีอาชีพรับราชการเป็นอัยการและต่อมาเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเมืองพิจิตร เป็นบุคคลที่มีความสำคัญของชุมชนย่านเก่าวังกรด
1) ในฐานะผู้ริเริ่มและให้การสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดวังกรดท่านได้สร้างโรงสีข้าวโรงแรกของวังกรด สร้างโรงแรมสุขเสมอบริเวณริมน้ำน่าน ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 1 ของหมู่ที่ 1 (บริเวณใกล้ศาลเจ้าพ่อวังกลมปัจจุบัน) โดยมอบให้ลูกน้องเป็นผู้ดูแล
2) เป็นผู้นำในการสร้างศาลเจ้าพ่อวังกลม
3) เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ ช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีความเดือดร้อน

นางแจง ไทยตรง                 
นางแจง ไทยตรง เป็นชาวเวียตนามอพยพมาอยู่ที่ย่านเก่าวังกรดได้สมรสกับนายทอง ไทยตรง นางแจงมีบุตรกับนายทอง 5 คน ชาย 4 คน หญิง 1 คน คนสุดท้ายคือ พันเอกพิเศษนายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง ผู้มอบบ้านหลวงประเทืองคดีให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาลตำบลวังกรด นายทอง ไทยตรงเป็นมือขวาของท่านโฮจิมิน เมื่อท่านโฮจิมินมาอยู่ที่พิจิตรได้แวะเวียนมาปรึกษาเรื่องงานกับนายทองและออกไปหาแนวร่วมเพื่อกู้ชาติด้วยกัน ต่อมานายทองถูกลอบสังหารท่านโอจิมินจึงฝากให้หลวงประเทืองคดีดูแลเรื่องคดีให้จากนั้นท่าโฮจิมินได้หนีต่อไปยังภาคอีสาน นางแจงมีความสำคัญกับชุมชนย่านเก่าวังกรด นางแจงมีความสำคัญกับชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้
1) เป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องความขยันขันแข็งในการทำมาหากินจนสร้างฐานะได้มั่นคง จนเป็นแบบอย่างให้กับชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด
 2) เป็นผู้นำประเพณีการเชิญแขกมาร่วมงานมงคลต่างๆ โดยการมวนหมาก มวนพลูใส่พานไปเชิญเพราะก่อนนี้ยังไม่มีการ์ดเชิญ จนมีโรงพิมพ์ขึ้นประเพณีนี้จึงเลิกราไป
3) นางแจงเป็นคนมีเมตตาเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนบ้านและเป็นที่นับถือของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด

พันเอกพิเศษ นายแพทย์ วรสิทธิ์ ไทยตรง
พันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง ท่านเป็นบุตรคนที่ 5ของนางแจงและนายทอง ไทยตรง ท่านได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวชุมชนย่านเก่าวังกรดตำบลบ้านบุ่งเป็นอย่างมาก โดยการมอบบ้านหลวงประเทืองคดีให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาล ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยที่มีความโดดเด่น กว่าบ้านหลังอื่นๆ ในยุคนั้น คือ เป็นบ้านตึกหลังแรกของชุมชนและมีคุณค่าทางความทรงจำที่มอบไว้ให้คนย่านเก่าวังกรดและบุคคลทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้

พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ (เปลี่ยน กัลยาณเสวี)
พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ (เปลี่ยน กัลยาณเสวี) ร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด เดิมชื่อนายเปลี่ยน (กิมเตียง) พุ่มขจร เกิดเมื่อ 2476 เกิดที่จังหวัดอยุธยา บิดาและมารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ 2 ปี ท่านจึงอยู่ในความอุปการะของนางทองย้อยและนายดำผู้เป็นญาติ ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านวังกรด และได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านวังกลม ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรจนจบหลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น (ป.4) หลังจากนั้นได้ฝึกหัดการบรรเลงปี่พาทย์อยู่กับลุงคำ ซึ่งมีวงปี่พาทย์ จึงมีความชำนาญด้านดนตรีเป็นอย่างดี เด็กชายเปลี่ยนเป็นเด็กมีความประพฤติเรียบร้อยและมีใจฝักใฝ่ทางด้านพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 17 ปี ณ วัดวังกลม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดวังกลม ท่านเรียนจบนักธรรมเอก ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีชื่อ “พระครูวิจิตรธรรมาภรณ์”  มีความสำคัญกับชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้           
1) ท่านเป็นพระเถระที่ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไปเคารพนับถือ มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใส มีความสงบเยือกเย็นและเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ผู้ที่มีโอกาสร่วมสนทนาหรือเข้าไปนั่งใกล้ๆ ย่อมรู้สึกตนเองเสมือนว่าได้นั่งใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีแต่ความร่มรื่นและสงบเยือกเย็น
2) ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างพระเครื่องหลวงพ่อลือรุ่นแรกจากตำราของหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อเดิมจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในตำบลบ้านบุ่งและตำบลใกล้เคียง
3) เป็นที่พึ่งทางใจของชาวชุมชนย่านเก่าวังกรด

นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร
 นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร อายุ 65 ปี เกิดปี พ.ศ.2497 เป็นผู้ประพันธ์และขับร้องเพลงชื่อ “วังกรดก้าวไกล” ให้กับชุมชนย่านเก่าวังกรด นายชัยรัตน์เกิดที่ย่านเก่าวังกรดตำบลบ้านบุ่ง ได้รับปริญญาบัญชีบัณฑิต (สาขาบัญชีต้นทุน) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจทางด้านการแต่งเพลงและเขียนบทร้อยกรองตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬา เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเขียนบทกลอนของชมรมวรรณศิลป์ เขียนเพลงประกอบละครโทรทัศน์ให้กับไทยทีวีสีช่อง 3 เพลงประกอบภาพยนตร์ ละครเวที เพลงเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร มีความสำคัญกับชุมชนย่านเก่าวังกรดในด้าน
1) สร้างชื่อเสียงให้กับชาวชุมชนย่านเก่าวังกรดอย่างมาก เช่น รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ.2522, รางวัลชนะเลิศโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สามบรมราชกุมารี จากการประกวดเพลงเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2531, รางวัลชนะเลิศ 2 รางวัล ในการประกวดเพลงสถาบันของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ.2522, รางวัลชนะเลิศการประกวดเพลง เนื่องในวันครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2529 จัดโดยคุรุสภา ฯลฯ
2) ประพันธ์และขับร้องเพลง “ย่านเก่าวังกรด” ให้กับเทศบาลตำบลวังกรด

นายสมจิตร ปั้นเกิด
ผู้เชี่ยวชาญการขุดเรือยาวจิ๋ว 12 ฝีพาย ที่ได้รับการยกย่องจากพัฒนาชุมชนจังหวัดพิจิตรและเป็นผู้มีความสำคัญของชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้
1) ปราชญ์ชาวบ้านด้านการขุดเรือและถ่ายทอดให้กับบุตรหลานและบุคคลทั่วไป
2) เป็นเจ้าของภูมิปัญญาการขุดเรือจิ๋ว หมู่ที่ 3 ได้รับการยกย่องเป็น “หมู่บ้านภูมิปัญญาด้านการขุดเรือ” จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิจิตร                              

นายศิลปชัย  ชูศรี
นายศิลปะชัย ชูศรี มีความสำคัญต่อชุมชนย่านเก่าวังกรด ดังนี้
1) เป็นฝีพายเรือคนสำคัญที่นำพาเรือยาวให้ได้รับชัยชนะการแข่งขันเรือยาวใหญ่เกือบทุกสนาม สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้าน, จังหวัดพิจิตร และประเทศไทย
2) เป็นเจ้าของภูมิปัญญาด้านการควบคุมทีมฝีพาย ซึ่งภูมิปัญญาการพายเรือแข่งนี้ได้เรียนรู้จากบิดาชื่อนายจัน ชูศรี ซึ่งเป็นฝีพายเรืออยู่ในตำแหน่งท้าย (ระเบิดน้ำก่อนถึงเส้นชัย) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญโดยการถ่ายทอดเป็นลักษณะครูพักลักจำ
3) เป็นแบบอย่างด้านความอดทน มานะและมีความพยายาม
4) นอกจากนี้ยังถ่ายทอดภูมิปัญญาการควบคุมทีมฝีพายให้กับเยาวชนในชุมชนและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้