ประเพณีการไหว้เจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน
การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนในชุมชนย่านเก่าวังกรดปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า หลายครั้ง แต่ปัจจุบันเหลือไหว้ 3 ครั้ง คือ
1. ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ เรียกว่า ตรุษจีน “ง่วงตั้งโจ่ย” เป็นเสมือนวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั่นเอง นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ในการไหว้ตรุษจีนนั้น จะต้องมีการเตรียมกระดาษเงินกระดาษทอง สำหรับใช้ไหว้ด้วย เพราะคนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า "อิมกัง" ลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้ เพื่อแสดงความกตัญญู เวลาไหว้เจ้าที่บ้านหรือศาลเจ้าที่ไหนก็ตามของประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรดหากต้องการจะรู้ความน่าจะเป็นว่าพรที่ขอจะได้หรือไม่ก็สามารถทำได้โดยการเสี่ยงทายด้วยการโยนปวย หรือปัวะปวย (แผ่นไม้คู่ทำนาย) ก็จะอธิฐานให้แผ่นไม้ที่โยนลงมาให้ "คว่ำอัน หงายอัน" แสดงว่าเทพเจ้าเห็นด้วย แต่ถ้า "เชี้ยปวย" คือโยนแล้วแผ่นไม้ "หงายทั้งสองอัน" แสดงว่าเทพเจ้าไม่เห็นด้วย แต่ถ้า "อุ่งปวย (หรืออุ๊งปวย)" คือโยนแล้วแผ่นไม้ "คว่ำทั้งสองอัน" แสดงว่าธรรมดาๆ ไม่มีอะไร เทพเจ้าเฉยๆ ให้เราตั้งคำถามคำตอบที่อยากได้ใหม่
2. ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานของชุมชนย่านเก่าวังกรดนำอาหารคาว หวานที่เป็นมงคลไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
3. ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย” สารทจีนเทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า ชิกงวยปั่ว (แต้จิ๋ว) แปลว่า (เทศกาล) กลางเดือนเจ็ด เป็นวันไหว้ใหญ่ของประชาชนในชุมชนย่านเก่าวังกรด โดยไหว้ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้