ประวัติชุมชน ย่านเก่าวังกรด

   ชุมชนย่านเก่าวังกรด ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เป็นตำบลเก่าแก่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 114 ปี ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทย นับถือศาสนาพุทธ ชื่อตำบลบ้านบุ่งนี้มาจากคำว่า “บ้านบุ่ง” เนื่องจากอดีตตำบลบ้านบุ่งมีห้วย หนอง คลอง บึง ล้อมรอบบ้านเกือบทั้งหมด จึงได้ตั้งชื่อตำบลนี้ว่า “ตำบลบ้านบุ่ง” ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย บ้านบุ่งในอดีตเคยเป็นชุมทางการค้าทั้งทางน้ำและทางบก การตั้งถิ่นฐานพัฒนาการของชุมชนและการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ของชุมชนเชื่อว่าเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงมีการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ จึงมีการสร้างสถานีรถไฟวังกรด ชุมชนวังกรดในอดีตถือเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญเนื่องจากชุมชนใกล้เคียง อาทิ ตำบลหัวดง, อำเภอตะพานหิน, วังทรายพูน, สากเหล็กจะนำข้าวมารวมกันที่ชุมชนย่านเก่าวังกรดเพื่อทำการขนส่งสินค้าทางเรือโดยอาศัยลำน้ำน่านและเส้นทางรถไฟส่งสินค้าไปยังกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ชุมชนย่านเก่าวังกรดจึงเป็นเสมือนพื้นที่จุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญที่ควบคุมการค้าขายในบริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำน่าน เมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ส่งผลให้ความนิยมการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางน้ำลงความนิยมลงซึ่งมีผลต่อสถานภาพการเป็นชุมชนทางการค้าลดบทบาทลงเศรษฐกิจชุมชนจึงเริ่มซบเซาลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

   ชุมชนย่านเก่าวังกรดในปัจจุบัน เดิมมีชื่อ “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” อยู่ภายใต้การปกครองของตำบลในเมือง หรือตำบลท่าหลวงในปัจจุบัน เมื่อมีกำนันคนแรกคือกำนันเหมา มีภูมิลำเนาอยู่บ้านบุ่ง ทางราชการจึงโอนชุมชนบริเวณบ้านท่าอีเต่า มาอยู่ในเขตการปกครองตำบลบ้านบุ่ง หมู่ที่ 1 ที่มาของชื่อชุมชนวังกรด เดิมชื่อวังกลม ซึ่งเรียกตามการหมุนเป็นวงกลมของกระแสน้ำบริเวณใกล้กับวัดวังกลม  ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 มีการสร้างเส้นทางรถไฟ คาดว่าสถานีรถไฟวังกรดน่าจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างทางรถไฟสายปากน้ำโพ-พิษณุโลกเดิมเรียกชื่อว่า “สถานีรถไฟวังกลม” ตามชื่อของชุมชนในสมัยนั้น สถานีรถไฟวังกลมได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟวังกรดและเดิมทีสถานีรถไฟมีเรียกตามชื่อชุมชนคือ สถานีรถไฟวังกลมแต่เนื่องจากชื่อไปซ้ำซ้อนกับ อีกสถานีรถไฟอีกแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีรถไฟวังกรด ชื่อชุมชน ชื่อตลาดชุมชนจึงเปลี่ยนมาเป็น ชุมชนวังกรดจวบจนปัจจุบัน                               

เมื่อมีทางรถไฟ การค้าขายและเศรษฐกิจในชุมชนก็มีความเจริญมากยิ่งขึ้น เป็นศูนย์กลางการค้าที่มีทางคมนาคมสะดวก 3 ทาง คือ ทางรถไฟ ทางถนน (เกวียน) และทางเรือ  “หลวงประเทืองคดี” คหบดีในชุมชนซึ่งมีอาชีพรับราชการเป็นอัยการ จึงส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนให้สร้างตลาดชุมชนขึ้น ลักษณะการตั้งอาคารบ้านเรือนในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สันนิษฐานได้ว่า การตั้งบ้านเรือนของคนในชุมชนน่าจะเป็นแบบกระจายตัวกันอยู่บนพื้นที่ในลักษณะของหมู่บ้านชาวนาในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ต่อมาเมื่อมีการสร้างตลาด ลักษณะการสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนไปเป็นแบบเรือนแถวไม้ มีทั้งปลูกเพื่อให้เช่า และปลูกโดยเจ้าของที่ดิน มีลักษณะเป็นการสร้างเรือนแถวของตนเองเรียงต่อๆ กันไปในระยะแรกลักษณะชุมชนเป็นเรือนแถวไม้เรียงตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก จากสถานีรถไฟถึงริมแม่น้ำน่านโดยน่าจะสร้างบนพื้นที่บริเวณซอยกลางตั้งแต่บ้านตั้งเต๊กไต๋เป็นแห่งแรก ลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ซึ่งยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรือนไม้ชั้นเดียวนี้ ไม่ได้มีการสร้างขึ้นพร้อมกันทั้งหมด แต่จะทยอยกันสร้างเรียงตัวกันไปเรือนบางหลังน่าจะมีการสร้างมาก่อนการมีสถานีรถไฟ เมื่อสร้างสถานีรถไฟแล้วจึงมีการสร้างต่อเพิ่มเติมตามพื้นที่ว่างที่ ในอดีตสร้างบ้านเรือนจากหน้าสถานีรถไฟลงมายังซอยกลาง

เมื่อสร้างสถานีรถไฟแล้วจึงมีการสร้างต่อเพิ่มเติมตามพื้นที่ว่างที่ ในอดีตสร้างบ้านเรือนจากหน้าสถานีรถไฟลงมายังซอยกลาง เมื่อเขียนผังการสร้างบ้านเรือนในเขตตลาดมีลักษณะการจัดเรียงเป็นรูปแบบสะพานไม้หมอนรถไฟ สถาปัตยกรรมในการสร้างบ้านเรือนมีรูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชนที่อาศัยบริเวณริมน้ำเป็นอย่างยิ่ง คือทางด้านล่างของใต้ถุนเรือนเป็นคลองสามารถนำเรือเข้ามาจอดสำหรับรับส่งสินค้าได้ เนื่องจากในอดีตการค้าขายในชุมชนวังกรดมีความเจริญมาก มีการนำของมาค้าขายแลกเปลี่ยนกันจากผู้คนในต่างชุมชน เช่น บ้านบุ่ง สากเหล็ก ท่ากระดาน ไดชุมแสง ในระยะทางที่ใช้การเดินทางไป-กลับด้วยเกวียน 1 วัน 1 คืน พื้นที่บริเวณนี้ ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่2 จึงเต็มไปด้วยเรือนแถวไม้อยู่อาศัย และตลาดแผงลอยอยู่ 2 ข้างทางตลาดแผงลอยเป็นตลาดสดแผงลอยมีลักษณะเป็นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา บริเวณเรือนแถวไม้แนวเหนือ-ใต้ในสมัยนั้นใช้เป็นที่ว่าง มีสวนผัก และลานถั่วของคนในชุมชน ที่ผูกวัวควายและเกวียน สำหรับผู้คนที่มาซื้อของ-ส่งของ ชุมชนวังกรดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากตลาดวังกรด เป็นพื้นที่สำคัญมีทางรถไฟและถนนที่ตัดกับทางรถไฟตัดผ่าน จึงโดนโจมตีบ่อยครั้ง ทำให้ต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในตลาด ซึ่งอยู่บริเวณแถวเหนือ-แถวใต้ในปัจจุบัน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การทางรถไฟไทย ได้แจ้งให้รื้อบ้านและตลาดแผงลอยบริเวณหน้าสถานีรถไฟออกทั้งหมดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และให้สร้างเรือนแถวไม้ 2 ชั้นบนพื้นที่ของการรถไฟ บริเวณที่ชาวบ้านเรียก แถวเหนือ-แถวใต้ในปัจจุบัน ลักษณะของตลาดวังกรด จึงมีอาคารเรือนแถวไม้ที่วางตัวทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน การดำเนินชีวิตของชาวบ้านวังกรดจะอาศัยอยู่ในชุมชนย่านเก่าวังกรดและกระจายไปตามพื้นที่ทำการเกษตรเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพ เกษตรกรรมและค้าขาย นอกจากนี้ชุมชนยังมี ความผูกพันกับสายน้ำจึงมีประเพณีที่สำคัญของชุมชนคือ การแข่งเรือยาว ในชุมชนมีช่างฝีมือดีด้านการขุดเรือและการทำพายอีกด้วย ด้านการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนมีวิถีความเป็นอยู่แบบชาวชนบทที่มีเสน่ห์คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลความมีน้ำใจและความสามัคคีส่งผลให้ชุมชนมีความสงบสุขเรื่อยมา สิ่งยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนและประชาชนทั้งชาวชุมชนย่านเก่าวังกรดและประชาชนใกล้เคียง คือ เจ้าพ่อเจ้าแม่วังกลมและหลวงพ่อลือ วัดวังกลม

เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของชุมชนย่านเก่าวังกรดเป็นที่ราบลุ่มห้อมล้อมด้วย แม่น้ำ หนองคลองบึง ซึ่งได้รับอานิสงส์ความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศจากธรรมชาติที่มีลักษณะดั้งเดิม ทำให้ชุมชนย่านเก่าวังกรดมีความเป็นชนบทที่มีแหล่งน้ำล้อมรอบ มีอากาศสดชื่นบริสุทธิ์ มีทัศนียภาพที่งดงามท่ามกลางความสงบสุขของผู้คนที่มีอัธยาศัยไมตรีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันระหว่างกัน จนหล่อหลอมเป็นมรดกวัฒนธรรมชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศอย่างมีอัตลักษณ์เฉพาะ ชุมชนวังกรดจึงเป็นพื้นที่ที่นับว่ามีองค์ประกอบทางท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้ ตัวอย่างของศักยภาพทุนของชุมชนเช่น ภูมิปัญญาด้านการเกษตร หัตถกรรม ประวัติศาสตร์ชุมชน อาหารการกิน ความงดงามของเรือนโบราณอาคารไม้เรือนแถวของตลาดเก่า ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่วังกลม หลวงพ่อลือวัดวังกลม  และงานประเพณีแห่ผ้าหลวงพ่อลือ รวมถึงตึกหลวงประเทืองคดี คหบดีและบุคคลสำคัญของชาวชุมชนวังกรดที่มีตำนานและเรื่องราวที่น่าสนใจรวมทั้งแหล่งน้ำ และระบบนิเวศน์ของป่าจิกนับร้อยไร่ที่มีนกหลากหลายสายพันธุ์มาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น

ดังนั้นด้วยศักยภาพดังกล่าวพื้นที่ชุมชนย่านเก่าวังกรดน่าจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมโดยใช้ฐานการประกอบอาชีพค้าขายและวิถีเกษตรกรรมของชุมชนเป็นทุนในการพัฒนา CBT ที่จะสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมของชุมชนแก่ผู้มาเยือนโดยคำนึงถึงขีดความสามารถที่รองรับได้ของพื้นที่บนทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีอยู่และในขณะเดียวกันก็เอื้ออำนวยประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนด้วยประกอบกับคนในชุมชนย่านเก่าวังกรดเริ่มตื่นตัวอันเป็นผลมาจากเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมความงดงามของอาคารเรือนไม้เก่าและสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวชุมชนและลิ้มชิมรสอาหารพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์อยู่เนืองๆทำให้ชุมชนเริ่มมองเห็นว่าทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองน่าจะมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้ 

 แต่ชุมชนยังขาดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการดังนั้นภาคีเครือข่ายในชุมชนอันประกอบด้วยผู้นำชุมชน  ท้องถิ่น วัด โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบุ่งและเทศบาลตำบลวังกรดจึงมีความต้องการที่จะร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนโดยใช้ฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิถีวัฒนธรรมชุมชนและความงดงามของธรรมชาติ ความมีอัธยาศัยของคนในชุมชนเป็นตัวเชื่อมร้อยคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายให้มาร่วมกันศึกษาการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนในพื้นที่ย่านเก่าวังกรด ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่มีคนในชุมชนเป็นภาคีที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาทุกขั้นตอน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้