โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จังหวัดพิจิตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน ๒๕๖๖ เวลา 09.00 น.
นางฐิตารีย์ อินทร์ตาแสง วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จังหวัดพิจิตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม ยกระดับชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านวังกรด (ย่านเก่าวังกรด)
ดร.กมลลักษณ์ ธนานันต์เมธี ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวังกรด เป็นวิทยากรบรรยาย
ระดมความคิด การจัดทำสโลแกนหรือธีมการท่องเที่ยวของชุมชน และการจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๔๐ คน
และคณะวิทยากรแบ่งกลุ่มสาธิตและฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การจัดเมนูอาหาร/เครื่องดื่ม สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมการแสดงพื้นบ้าน และภูมิปัญญาการทำลูกประคบ
ณ อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (ซุ้มประตูสู่วัฒนธรรมไทย-จีน) บ้านวังกรด (ย่านเก่าวังกรด) อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

  10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี" 

วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 น.
นางฐิตารีย์ อินทร์ตาแสง วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ร่วมให้การต้อนรับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเชิงประจักษ์ 
เพื่อประกาศให้เป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย นางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล และนางจันทิมา จริยเมโธ ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ จำนวน 4 ท่าน 
ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านวังกรด (ย่านเก่าวังกรด) ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
โดยมี ดร.กมลลักษณ์ ธนานันต์เมธี ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวังกรด นำเสนอข้อมูลและนำชมจุดท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชนบ้านวังกรด (ย่านเก่าวังกรด) 
ประกอบด้วย ชมการสาธิตการนวดแผนไทย ชมบรรยากาศอาคารไม้เก่าและรับประทานอาหารกลางวัน ณ ตลาดย่านเก่าวังกรด ชมอาคารสถานีรถไฟวังกรด 
บ้านหลวงประเทืองคดี ศาลเจ้าพ่อวังกลม สักการะหลวงพ่อลือ วัดวังกลม และชมบรรยากาศการแข่งขันเรือยาว ณ บริเวณหนองหันครา มจร.พิจิตร วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ประวัติศาสตร์บอกเล่า
ในสังคมไทย ความทรงจำของอดีตจะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในเชิงคำ "บอกเล่า" ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่านเก่าวังกรด ได้รวบรวมข้อมูล จากคำบอกเล่า การสัมภาษณ์ ผู้คนในชุมชน ย่านเก่าวังกรด ทำให้มองเห็นภาพในอดีตถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ในย่านเก่าวังกรด มองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่มีประวัติศาสตร์ อาคารสถาปัตยกรรม ประเพณีวัฒนธรรม กลิ่นอายความเป็นอดีตของชุมชนย่านเก่าวังกรด ความทรงจำในอดีตก่อเกิดแรงผลักดันให้คนในชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมพิจิตร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการร่วมมือกันอนุรักษ์วิถีชีวิตย่านเก่าวังกรด กลับมาคึกคัก อีกครั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ชุมชนย่านเก่าวังกรด จ.พิจิตร หรือที่คนจังหวัดพิจิตรคุ้นเคยกันดีในชื่ออดีตว่า “ตลาดวังกรด” ตั้งอยู่ในเขต ต.บ้านบุ่ง อ.เมือง จ.พิจิตร อยู่ห่างจากตัวเมืองพิจิตร 6 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเรียกขานมาเป็นชื่อ “ย่านเก่าวังกรด” ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสถานีรถไฟ จะมองเห็นหอนาฬิกา
ย่านเก่าวังกรด เมื่อสมัยก่อนเป็นย่านพาณิชยกรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ในปัจจุบันสถานที่และบรรยากาศยังคงสามารถบอกเล่าถึงความเป็นอดีตได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม และการค้าขาย จึงถือได้ว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศและกลิ่นอายของตลาดโบราณเหมือนครั้งวันวาน
ชุมชนบ้านท่าอีเต่า  ความเป็นมาของบริเวณชุมชนวังกรดแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น “ชุมชนวังกลม” ที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากเป็นชื่อของห้วยน้ำที่มีลักษณะการหมุนเป็นวงกลมอยู่ใกล้บริเวณของวัดวงกลม ดังนั้นเมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลมขึ้นในปีพ.ศ. 2540 แต่เนื่องจากชื่อสถานีวังกลมนี้ มีการตั้งชื่อสถานีเหมือนกับสถานีของรถไฟในภาคอีสาน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อสถานีเป็นสถานีรถไฟวังกรด และได้เปลี่ยนชื่อชุมชนตามชื่อสถานีรถไฟเป็นชุมชนวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา
สวจ.พิจิตร ขอเชิญชวนท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรมฯ
ชุมชนยลวิถี ย่านเก่าวังกรด ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ชมบรรยากาศสถาปัตยกรรมห้องแถวไม้ย่านการค้าในอดีต ชิมอาหาร ขนมอร่อย ๆ เชคอิน
บ้านหลวงประเทืองคดี 
ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของชุมชนตลาดวังกรด สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2471 เดิมชาวบ้านเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านคุณนายแจง” ตามชื่อเจ้าของบ้านเดิมที่เป็นผู้ครอบครอง คือ นางแจงและนายทอง ไทยตรง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่เมืองไทย มีบุตรชายหญิง 5 คน ต่อมานายทอง ไทยตรง ซึ่งเป็นคนสนิทท่านโฮจิมินห์ถูกลอบสังหาร นางแจงจึงให้หลวงประเทืองคดีว่าความทำให้มีความสนิทกันและตกลงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันและใช้บ้านหลังนี้เป็นสำนักงานให้บริการด้านกฎหมายแก่ประชาชน ใช้ชื่อบ้านว่า “บ้านหลวงประเทืองคดี” สำหรับหลวงประเทืองคดี อดีตเคยรับราชการเป็นอัยการ ต่อมาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญของชาวตลาดวังกรด โดยเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดวังกรดและเป็นผู้นำการสร้างศาลเจ้าพ่อวังกลม รวมทั้งเป็นที่พึ่งของชาวบ้านวังกรดในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เมื่อนางแจงเสียชีวิต และบุตรชายหญิง 4 คน ได้เสียชีวิตเหลือเพียง พันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง บุตรคนสุดท้ายของนางแจงจึงได้เป็นผู้ครอบครองบ้านหลวงประเทืองคดี ต่อมาพันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง ได้มอบบ้านหลังนี้ให้กับเทศบาลตำบลวังกรดในพุทธศักราช 2559 หลังจากนั้นจังหวัดพิจิตรได้สนับสนุนประมาณในการปรับปรุงฟื้นฟูจนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2560 และเปิดใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนตลาดวังกรด
 บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหลังแรกของชุมชนตลาดวังกรด สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม ชื่อนายบัว โดยใช้อิฐที่ปั้นและเผาเอง ปูนหมักแบบโบราณ เป็นอาคารสูง 2 ชั้น และมีห้องใต้ดิน รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก กว้าง 13.60 เมตร ยาว 10.70 เมตร พื้นที่รวมประมาณ 145.52 ตารางเมตร ผนังอาคารหลักเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห้องใต้ดินขนาดความกว้างประมาณ 3.80 เมตร ยาว 5.00 เมตร ลึก 1.30 เมตร ซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังใช้เก็บทรัพย์สินและหลบซ่อนตัว พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วย ห้องทำงานของหลวงประเทืองคดี โถงกลาง ห้องดื่มน้ำชา ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง และระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง
ส่วนชั้นบนประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ขนาด ห้องนอน โถงกลาง ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับลงชั้นล่าง ระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับลงชั้นล่าง และบันไดขึ้นดาดฟ้า โดยห้องแต่ละห้องทั้งชั้นล่างและชั้นบนเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน บริเวณหลังบ้านมีบ่อน้ำบาดาลแบบโบราณอายุประมาณ 90 ปี
บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงฟื้นฟูด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ มีการทำความเข้าใจภาพรวมของชุมชนและประเมินความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์ ดำเนินการสำรวจข้อมูล และเปิดเวทีเสวนากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ สื่อสารคุณค่าและความงามทางสถาปัตยกรรม สรุปรูปแบบการปรับปรุงฟื้นฟู จัดหางบประมาณ และดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูตามหลักวิชาการ ทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนตลาดวังกรด
21 มีนาคม 2566  วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ชุมชนย่านเก่าวังกรด
ในโครงการต่อยอดแหล่งเรียนรู้ ทางวัฒนธรรม เพื่อสู่วิธีท่องเที่ยวชุมชน ภายในบ้านหลวงประเทืองคดี
กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเก่าวังกรด ลานกิจกรรมบ้านหลวงประเทืองคดี
แผนที่ท่องเที่ยว ย่านเก่าวังกรด
สถานที่สำคัญในย่านเก่าวังกรด
1. พิพิธภัณฑ์ บ้านหลวงประเทืองคดี
2. ซุ้มประตูสู่วัฒนธรรมไทย-จีน
3. ลานกิจกรรม บ้านหลวงประเทืองคดี
4. วงเวียนหอนาฬิกา
5. ศาลเจ้าพ่อ และเจ้าแม่วังกลม
6. วัดวังกลม/หลวงพ่อลือ/เรือศรทอง
7. พญาสุวรรณนาคราช
8. โรงหนังโบราณมิตรบันเทิง
9. ลานกิจกรรม ย่านเก่าวังกรด
10. สถานีรถไฟวังกรด
11. อาคารจำหน่ายสินค้าชุมชน
12. โรงเรียนชุมชนบ้านวังกลม
13. ตลาดสดเทศบาลตำบลวังกรด
14. สะพานประชาสามัคคี
15. ป่าต้นจิกชุมชน
16. โฮมสเตย์ บ้านกมลลักษณ์
กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเก่าวังกรด ลานกิจกรรมบ้านหลวงประเทืองคดี มีการสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชมและจิบชา พร้อมมีส่วนร่วมการแปรรูปชาใบจิก สินค้าในชุมชนย่ายเก่าวังกรด
ตึกหลวงประเทืองคดี มีตำนานเรื่องเล่า
จุดเช็คอินย่านเก่าวังกรด พิจิตร สามารถมาเช่าชุด”อ่าวใหญ่”(เวียดนาม) ใส่ถ่ายรูปเช็กอิน สไตล์ชิคๆได้ทุกวันนะคะ

เจ้าพ่อวังกลม สำหรับประวัติของเจ้าพ่อวังกลมมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง
เรื่องแรก มีชาวจีนไหหลำ 3 คน เป็นคนนำเจ้าพ่อและหน้าบันเจ้าพ่อที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมาจากเมืองจีนมาไว้ที่บ้านวังกลมเหนือ สมัยก่อนนั้นจะมีการเข้าทรงและนำเหล็กแหลมยาวประมาณ 5 เมตร มาแทงที่ปากคนทรงและให้คนขึ้นไปโหนตรงปลายเหล็กแหลม (ปัจจุบันนี้เหล็กแหลมยังอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อวังกลม)เรื่องที่สอง คือมีคนพบขอนไม้ลอยมาติดที่ท่าน้ำวังกลมเหนือ ชาวบ้านผลักไสเท่าไรก็ไม่ไปกลับลอยเข้ามาอีกเป็นอย่างนี้หลายครั้ง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันกู้ขึ้นมาและให้ช่างแกะสลักเป็นองค์เจ้าพ่อ และอัญเชิญประดิษฐานและขนานนามว่า “เจ้าพ่อวังกลม” (ปึง เถ่า กง) ความศักสิทธิ์ของเจ้าพ่อวังกลมเป็นที่เลื่องลือในหลายๆ ด้าน เช่น การขอบุตร การขอให้เลื่อนตำแหน่ง การค้าขาย เป็นต้น เมื่อสำเร็จผลก็มีผู้มาแก้บนโดยการมีงิ้วให้เจ้าพ่อ ทุกปีมีผู้มาแก้บนมากกว่า 10 รายจนต้องเข้าคิวแก้บนข้ามปีกันเลยทีเดียว

ศาลเจ้าพ่อวังกลมอันศักดิ์สิทธิ์ นอกจากการได้เที่ยวชมตลาดและชุมชนย่านเก่าวังกรดแล้ว 
เดินเข้ามาสุดซอยติดริมน้ำ เรายังแวะมาไหว้ขอพรกันที่ศาลเจ้าพ่อวังกลมอันศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในตลาด 
ซึ่งทุกปีจะมีงานฉลองเจ้าพ่อวังกลม หรืองานงิ้ว จัดขึ้นเชื่อมสายสัมพันธ์ของลูกหลานย่านวังกรด

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔  บ้านหลวงประเทืองคดี
จังหวัดพิจิตร อาคารแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น นับได้ว่ามีการอนุรักษ์ที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ครอบครองและท้องถิ่น ในกระบวนการอนุรักษ์มีการศึกษาข้อมูล การประเมินความเสื่อมสภาพ และการเลือกวิธีการอนุรักษ์ จนสามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการเลือกใช้สีและองค์ประกอบในพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร ที่จะไม่รบกวนความเป็นของแท้ดั้งเดิมของอาคาร 
ที่ตั้งเลขที่ 197/4 หมู่ 1 ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร สถาปนิก/ผู้ออกแบบไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ /สร้างโดยช่างชาวเวียดนามชื่อ นายบัว
ผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง กรมศิลปากร /สถาปนิกผู้บูรณะ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า ๒๕๔๔/ ผู้ครอบครอง เทศบาลตำบลวังกรด/ ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2471

ข้อมูลและภาพอ้างอิง/ ช่างภาพ: วศิน ภุมรินทร์
ประวัติและผลงาน: ช่างภาพอิสระ มีความชำนาญพิเศษในการถ่ายงานสถาปัตยกรรม, Interior, Cityscape ถ่ายงานสารคดี และถ่ายภาพบุคคล มีผลงานเผยแพร่ ทั้งสื่อออนไลน์และนิตยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Fearless Organization, WPJA, Room Magazine, Nature Explorer, ATG, อสท https://virtualexpo.asa.or.th/content/page6_award/7

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี ๒๕๖๓ - ๒๕๖๔ บ้านหลวงประเทืองคดี จังหวัดพิจิตร
อาคารแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น 
นับได้ว่ามีการอนุรักษ์ที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ครอบครองและท้องถิ่น ในกระบวนการอนุรักษ์มีการศึกษาข้อมูล 
การประเมินความเสื่อมสภาพ และการเลือกวิธีการอนุรักษ์ จนสามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการเลือกใช้สีและองค์ประกอบในพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร ที่จะไม่รบกวนความเป็นของแท้ดั้งเดิมของอาคาร
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้